ผศ.ดร.พรนรินทร์ เทพาวราพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย พร้อมด้วยตัวแทนสถานสัตว์ทดลองเพื่อการวิจัย เข้าร่วมการอบรม “อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการดูแลและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 1”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการดูแลและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 1” โดยมี ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ รักษาการที่ปรึกษาด้านระบบวิจัย เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร.วราภา มหากาญจนกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้การต้อนรับ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคม 2568 ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
การอบรมได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการดูแลและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ อาทิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร ศรีมีชัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สพ.ญ.ธัญญธร ยิ้มสู้ ผู้อำนวยการศูนย์สัตว์ทดลอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ดร.ณัฐพล ภาณุพินธุ หัวหน้าหน่วยสัตว์ทดลอง งานวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คุณยิ่งลักษณ์ เฟื่องมารยาท พยาบาลอาชีวอนามัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร กรมแพทย์ทหารบก (ฝ่ายสหรัฐฯ), น.สพ.เชาเชฏฐฉ์ภาดา พุฒพิมพ์ ศูนย์สัตว์ทดลอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รองศาสตราจารย์ ดร.วชิรญาณ์ ธงอาสา พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สพ.ญ.ดร.ภวิกา ลิ้มอุดมพร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วัตถุประสงค์ของการอบรมครั้งนี้ คือ การพัฒนาความรู้และความเข้าใจในการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องและปลอดภัย ตามหลักอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ ประเมิน บริหารจัดการ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรภายในองค์กรได้อย่างเหมาะสม
โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมจำนวน 256 คน ซึ่งได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การค้นหาอันตรายที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานวิจัย การประเมินความเสี่ยงในการสัมผัสสิ่งคุกคาม ตลอดจนการบริหารจัดการและควบคุมอันตรายในโครงการวิจัยและงานประจำวันที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและการใช้สัตว์ นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภูมิแพ้สัตว์ การช็อกจากภูมิแพ้รุนแรง และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักมาตรฐานสากลและสร้างความปลอดภัยในการดำเนินงานวิจัยในอนาคต
เครดิตภาพและข่าว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ